กิจกรรมโครงการ
"การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน" พื้นที่กรุงเทพมหานคร
ดำเนินงานโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี 2564
เพื่อให้ทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีคุณค่าได้นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (Cultural Industries) โดยอาศัยแนวคิดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่านกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม โครงการวิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” จึงได้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนผ่านความร่วมมือของศิลปิน ชุมชน หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่และสถาบันการศึกษา โดยจะดำเนินการ 4 พื้นที่ ได้แก่ (1) จังหวัดกาญจนบุรี (2) จังหวัดสุพรรณบุรี (3) จังหวัดนครปฐม (4) กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งทั้ง 4 พื้นที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคกลางตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อทดลองขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมให้มีผลต่อเศรษฐกิจชุมชนผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์
กรุงเทพมหานคร เดิมเรียกกันว่า "เมืองบางกอก" ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองบางกอกขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่ แทนกรุงธนบุรี โดยสืบทอดศิลปวัฒนธรรมจากกรุงศรีอยุธยา ทรงทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที ปีขาล จ.ศ. 1144 จัตวาศก หรือตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 แล้วทรงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325 และพระราชทานนามพระนครนี้ว่า "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยามหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถานอมรพิมาน อวตารสถิต สักกะทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ์" ซึ่งมีความหมายว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนชื่อพระนครจาก บวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์ และมีฐานะในการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น "จังหวัดพระนคร" ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รัฐบาลได้รวม จังหวัดพระนคร และ จังหวัดธนบุรีเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร แต่นิยมเรียกกันว่า "กรุงเทพฯ"